กองทัพเรือกำหนดประกอบพิธีสดุดีวีรชนกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๖๒

Release Date : 15-01-2019 00:00:00
กองทัพเรือกำหนดประกอบพิธีสดุดีวีรชนกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๖๒

         ในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๒ พลเรือเอก ลือชัย  รุดดิษฐ์  ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา พิธีบำเพ็ญกุศล และพิธีสดุดีวีรชนกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๖๒ ร่วมด้วย นายทหารชั้นนายพลเรือ ชั้นยศพลเรือเอก นายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองบัญชาการกองทัพเรือ เข้าร่วมพิธีฯ ณ บริเวณอนุสรณ์ เรือหลวงธนบุรี โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อระลึกถึงความกล้าหาญของวีรชนทหารเรือที่เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อในการปกป้องเอกราช และอธิปไตยของชาติ

               โดยในช่วงเช้า เวลา ๐๗.๔๕ น. ประกอบพิธีวางพวงมาลาของผู้แทนหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กองเรือยุทธการ ทัพเรือภาคที่ ๑ ทัพเรือภาคที่ ๒ ทัพเรือภาคที่ ๓ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และกรมสรรพาวุธทหารเรือ  จากนั้น ประธานในพิธีฯ ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล พิธีวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีวีรชนกองทัพเรือ  

             พิธีสดุดีวีรชนและบำเพ็ญกุศลแด่วีรชนของกองทัพเรือ เป็นพิธีสำคัญที่กองทัพเรือจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทหารเรือทุกคนได้แสดงความเคารพและระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญ ของวีรชนทหารเรือที่ได้ทำการรบอย่างกล้าหาญและเสียสละชีวิต เพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติจากศัตรูที่รุกรานแผ่นดิน กับเหตุการณ์สำคัญที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของทหารเรือ คือ เหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีน เมื่อฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทางเรือจำนวน ๗ ลำ รุกล้ำน่านน้ำไทยบริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ วีรชนผู้กล้าหาญของเราได้ทำการรบอย่างสุดความสามารถ ทำให้กองเรือรบของฝรั่งเศสได้รับความเสียหาย และในที่สุดต้องล่าถอยออกไปจากน่านน้ำไทย ในครั้งนั้น เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงชลบุรี และเรือหลวงสงขลา ได้รับความเสียหายและต้องสูญเสียนายทหารและทหารประจำเรือ รวมทั้งสิ้น ๓๖ นาย

             นอกจากนี้ บรรพบุรุษทหารเรือของเรายังได้พลีชีพในการรบครั้งสำคัญอีกหลายครั้ง เพื่อดำรงเกียรติภูมิของชาติและราชนาวีไทย ได้แก่ การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา

              เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ เรือมกุฎราชกุมาร พร้อมหมู่ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมผีเสื้อสมุทร ได้ยิงสกัดกั้นการรุกรานของเรือรบฝรั่งเศส จำนวน ๒ ลำ อย่างสุดความสามารถ จนสูญเสียทหารเรือไป จำนวน ๑๒ นาย เหตุการณ์ในสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เรือหลวงสมุยได้ถูกยิงด้วยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร จนจมลงพร้อมทหารประจำเรือ จำนวน ๓๑ นาย บริเวณนอกฝั่งรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย และในช่วงสงครามเกาหลี กองทัพเรือได้สูญเสียเรือหลวงประแสลำแรก พร้อมกับทหารประจำเรือ จำนวน ๒ นาย ขณะปฏิบัติภารกิจในการระดมยิงฝั่งร่วมกับกำลังทางเรือของสหประชาชาติ และยังมียุทธการสำคัญที่กองทัพเรือได้ส่งกำลังพลเข้าปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเหล่าทัพเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ตลอดจนการปกป้องและรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดน ได้แก่ การปราบปรามผู้ก่อการร้ายตามแผนยุทธการสามชัย จังหวัดเพชรบูรณ์ วีรกรรมแห่งดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย วีรกรรมดอนน้อย และวีรกรรมดอนสังคี จังหวัดหนองคาย รวมทั้งการเข้ายึดค่ายกรุงชิงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 

              ปัจจุบัน กองทัพเรือยังคงส่งกำลังพลเข้าร่วมแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้น แม้จะต้องแลกมาด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ แต่กำลังพลเหล่านั้นยอมเสียสละชีวิตของตนเอง เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และนำสันติสุขกลับคืนมา วีรกรรมอันกล้าหาญเหล่านั้น นับเป็นเกียรติภูมิของเหล่าผู้วายชนม์ที่ได้ทำหน้าที่ของทหารเรือไทยอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณของความรักชาติอย่างแท้จริง  (ที่มา : กพ.ทร.)