ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีต้อนรับและขึ้นระวางประจำเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ของกองทัพเรือไทย

Release Date : 07-01-2019 00:00:00
ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีต้อนรับและขึ้นระวางประจำเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ของกองทัพเรือไทย

          วันนี้ (๗ มกราคม ๒๕๖๒) เวลา ๑๖.๕๐ น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์  ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน ในพิธีต้อนรับเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ณ ท่าหมายเลข ๔ ท่าเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก นพดล สุภากร  ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยนายทหาร ชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ข้าราชการ และกำลังพลประจำเรือ ร่วมพิธีฯ
 
          เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือฟริเกตที่มีสมรรถนะสูง สร้างโดยบริษัท DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD. (DSME.) สาธารณรัฐเกาหลี มีการออกแบบเรือโดยใช้ Stealth Technology  พัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐอเมริกา และกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลี ในการต่อเรือ มีระวางขับน้ำสูงสุด ๓,๗๐๐ ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ๓๐ นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ ๔,๐๐๐ ไมล์ทะเล กำลังประจำเรือ ๑๓๖ นาย สามารถทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ ๖ ขึ้นไป โครงสร้างเรือแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบและการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ และสามารถตรวจสอบการครอบคลุมมิติทั้งกลางวันและกลางคืน มีการติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบตรวจการณ์ที่ทันสมัยและขีดความสามารถสูง รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง  สามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง ๓ มิติ ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ โดยการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ สามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้ายและโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ  การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ ๓ มิติระยะไกล และระยะปานกลางในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก รวมทั้งแลกเปลี่ยนและประสานการปฏิบัติกับเรือและอากาศยานที่ร่วมปฏิบัติการ แล้วโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ ขณะที่การป้องกันทางอากาศระยะไกล (ผิวน้ำ) หรือพื้นที่ชั้นนอกของเรือ (Battle Group) จะใช้การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศในการค้นหา ตรวจจับและโจมตี และการปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ โดยสามารถโจมตีเป้าหมายได้ที่ระยะไกล โดยปฏิบัติร่วมกับเรือและอากาศยานในการพิสูจน์ทราบเป้า ส่งมอบเป้าและให้ใช้อาวุธจากระยะพ้นขอบฟ้า รวมทั้งโจมตีเป้าพื้นน้ำและใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ
 
          ด้านการป้องกันตนเองนั้น จะโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีปืนใหญ่เรือและปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการสั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารถตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้
 
          นอกจากนี้ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ยังสามารถใช้ในการปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) ได้แก่ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร เรือคอร์เวต ชุด เรือหลวงรัตนโกสินทร์  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับเครื่องบินกองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก 
 
        ด้วยศักยภาพและสมรรถนะที่แข็งแกร่งของเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช กองทัพเรือจะถูกนำไปใช้ในภารกิจสงคราม ป้องกันอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย รวมไปถึงคุ้มกันกระบวนเรือลำเลียง และนอกเหนือจากนั้น ในยามสงบจะดูแลรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล พิทักษ์รักษาสิทธิอธิปไตยทางทะเล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัยพิบัติ และรักษากฎหมายตามกฎหมายให้อำนาจทหารเรือ  (ที่มา : สลก.ทร., กพร.ทร.)