เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง จัดการฝึกภาคปฏิบัติในทะเลของหลักสูตรป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับในทะเล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์การระหว่างประเทศ มากกว่า ๒๐ หน่วยงาน เพื่อใช้สำหรับแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงาน และการค้ามนุษย์ในภาคประมงของไทยตามคำแนะนำของสหภาพยุโรป (EU) ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะปลดใบเหลืองให้ประเทศไทยหรือไม่ ในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ หลักสูตรนี้ถูกบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงของไทยและได้รับการรับรองเป็นหลักสูตรชาติทางทะเล โดยคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๒๕พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พร้อมกับได้รับการอนุมัติจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายให้มีการจัดการฝึกอบรมจำนวน ๓ รุ่นๆ ละ ๔๐ คน รวมมีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรทางทะเล จำนวน ๑๒๐ คน ณ โรงแรมดีวารี จอมเทียน บีช พัทยา จังหวัดชลบุรี
การจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ณ โรงแรมดีวารี จอมเทียน บีช พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากหลากหลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และมีศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพร่วม โดยมีนาวาเอก ดรณ์ ทิพนันท์ เลขานุการคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง เป็นผู้อำนวยฝึก ซึ่งมีพื้นที่การฝึกบริเวณอ่าวสัตหีบ โดยกองทัพเรือได้สนับสนุนเรือฝึกจำนวน ๒ ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงท้ายเหมือง และเรือ ต.๙๙๔ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน ๔๐ คน จากหน่วยที่ทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายในทะเล และหน่วยที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีอันประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมศุลกากร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด
วัตถุประสงค์ของการฝึกภาคปฏิบัติในทะเล เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมนำความรู้ที่ได้จากการเรียนในห้องเรียนทั้งในเรื่องหลักกฎหมายและเทคนิคการตรวจ การรวบรวมพยานหลักฐาน และการสัมภาษณ์มาประยุกต์ใช้ในสภาวะที่เสมือนการทำงานจริง สำหรับตรวจและบังคับใช้กฎหมายในทะเล ทั้งสภาพการทำงานที่มีความยากลำบากจากสภาพคลื่นลม และความยากในการตรวจสอบและสืบหาข้อเท็จจริงจากตัวแรงงาน และผู้ควบคุมเรือ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ และความมั่นใจที่จะทำงานตามนโยบายของศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือในการแก้ปัญหาการคุ้มครองและแรงงานและการค้ามนุษย์ในภาคประมงให้หมดสิ้นไป และมีความยั่งยืนในอนาคต
(ที่มา : ศปมผ.)