กรมประมงกำหนดห้วงเวลาให้ผู้ที่มีความประสงค์ทำการประมงพาณิชย์ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ระหว่างวันที่ ๑ ถึง ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙ โดยมีรายละเอียดดังนี้
**กรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ กรมประมง
**จังหวัดอื่น ให้ยื่นที่ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่มีอาณาเขตติดทะเล
**เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมบัตรตัวจริงมาแสดง สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการประมง (กรณีที่เป็นนิติบุคคล) สำเนาใบทะเบียนเรือไทยและสำเนาใบอนุญาตใช้เรือ พร้อมตัวจริงมาแสดง หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีที่มีการมอบอำนาจ) สำเนาใบอนุญาตทำการประมงในปีการประมงที่ผ่านมา ใบรายงานการติดตั้งอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมง รูปถ่ายปัจจุบันหรือภาพถ่ายดิจิตอลของเรือและเครื่องมือทำการประมง จำนวน ๔ รูป (ภาพหัวเรือที่เห็นทะเบียนเรือชัดเจน ๑ รูป ภาพถ่ายเรือเต็มลำด้านซ้ายและด้านขวาที่เห็นชัดเจน ด้านละ ๑ รูป ภาพถ่ายเครื่องมือทำการประมงที่จะขออนุญาตบนเรือประมง ๑ รูป) ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงข้างต้น ถือเป็นการปฏิรูปของเรือประมงไทยครั้งสำคัญซึ่งจะทำให้การควบคุมจำนวนเรือทั้งเรือประมงและเรือขนถ่าย และจัดระเบียบเรือเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบและมาตรฐานที่ถูกต้องในอนาคตกระทำได้ง่ายขึ้น ขอให้พี่น้องชาวประมงร่วมแรงร่วมใจกันในการปฏิรูปของเรือประมงของไทยเรา เพื่อให้ประมงไทยมีความยั่งยืนต่อไป โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ มีดังนี้
-เรือประมงพาณิชย์ เรือขนถ่ายทุกลำ ทั้งในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ จะได้รับ “สมุดประจำเรือ ประมง” ซึ่งจะรวมข้อมูลของกรมเจ้าท่า (ทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ) และกรมประมง (ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ใบอนุญาตทำการขนถ่ายสัตว์น้ำ) เข้าไว้ในเล่มเดียวกัน ควบคุมด้วยระบบ e – Licence เชื่อมโยงระหว่างสำนักงานประมง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดชายทะเล
-สำหรับเรือ ๓๐ ตันกรอสขึ้นไปทุกลำ ต้องติดตั้ง VMS ก่อน จึงจะได้รับสมุดประจำเรือประมง -นอกจากสมุดประจำเรือประมงแล้ว เรือทุกลำจะได้รับ QR Code ให้นำไปติดในห้องควบคุมเรือ และจะได้รับเครื่องหมายประจำเรือประมง (Marking) ให้นำไปเขียนที่หัวเรือให้เห็นชัดเจน
-ระบบ e – Licence จะบูรณาการข้อมูลงานทะเบียนและใบอนุญาตเกี่ยวกับเรือประมง เรือขนถ่าย ระหว่างกรมเจ้าท่าและกรมประมงเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องระหว่างกันได้ ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่เคลื่อนไหวน้อย เมื่อบันทึกได้ถูกต้องลงระบบในครั้งแรกแล้ว สามารถลดภาระการตรวจที่ศูนย์ PIPO ลงได้ และจะเน้นตรวจเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานในเรือเป็นหลัก เพราะเปลี่ยนแปลงบ่อย
-เรือประมงที่ไม่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงเพราะเกิน MSY แล้ว จะไม่สามารถออกทำประมงได้ เพราะจะไม่ได้รับทั้งสมุดประจำเรือประมง QR Code และเครื่องหมายประจำเรือประมง (Marking) หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับรุนแรงตามกฏหมายใหม่
-การตรวจเรือประมงที่ฝ่าฝืนในทะเลจะกระทำได้ง่ายขึ้นเพราะมีเครื่องช่วยหลายอย่าง เช่น สังเกตจากเครื่องหมายประจำเรือประมง (Marking) ตรวจสอบ QR Code และสมุดประจำเรือประมง ทั้งหมดนี้หากมีการปลอมแปลงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ง่าย
(ที่มา : ศปมผ.)