คติธรรมสอนใจ เรื่อง “ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา”
Release Date : 09-10-2015 06:00:00
การพัฒนา คือ การสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่เจริญ ให้เจริญขึ้น และสามารถสนองความต้องการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ปัจจุบันความเจริญด้วยเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ สามารถสร้างสรรค์ความเจริญด้านวัตถุสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่โลกวิทยาศาสตร์แม้จะเจริญก้าวหน้าเพียงไร ก็ยังเป็นความเจริญในด้านวัตถุเท่านั้น ยังไม่อาจช่วยพัฒนาจิตใจมวลมนุษย์ให้เปี่ยมด้วยคุณธรรมได้ นอกจากนี้ บางครั้งเทคโนโลยียังเป็นตัวถ่วงมนุษย์ให้ห่างไกลจากคุณธรรมเสียด้วยซ้ำ ในทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงการพัฒนาบุคคลไว้ ๔ ด้าน คือ
๑. กายภาวนา คือ การพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง และฝึกอบรมกายให้เจริญด้วยคุณความดีมีความสัมพันธ์ทางกายภาพกับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง
๒. สีลภาวนา คือ การพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่นอย่างถูกต้อง มีระเบียบวินัยไม่เบียดเบียนกัน อยู่ร่วมกันฉันมิตร
๓. จิตภาวนา คือ การพัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรม คือ มีจิตใจเข้มแข็ง อดทน มีสมาธิ มีเมตตา กรุณา สุภาพอ่อนโยน ซื่อสัตย์ กตัญญู รู้จักเสียสละ และมีจิตใจแช่มชื่น เบิกบาน สงบเย็น
๔. ปัญญาภาวนา คือ การพัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง คิด พูด ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นรู้เท่าทันสภาวะของโลกและชีวิต
มนุษย์เราควรฝึกฝนพัฒนาตนให้สมบูรณ์ทั้ง ๔ ด้าน ไม่ควรพัฒนาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ในลักษณะ “ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา” คือ เจริญแต่วัตถุเจริญแต่กาย แต่จิตใจไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา เพราะจิตใจที่ไม่ได้ฝึกอบรม ธรรมเป็นจิตใจที่เปราะบาง เป็นจิตที่ความโลภ โกรธ หลง ความอิจฉาริษยา และความอาฆาตพยาบาทเข้าครอบงำได้ง่าย เหมือนมีระเบิดที่ร้ายแรงแต่ไม่มีสลักนิรภัย จะอันตรายเพียงใดแต่ผู้ฝึกฝนอบรมจิตใจดีแล้ว จะมีโลกทัศน์ต่อตนเองและต่อสังคมตรงตามเป็นจริง แม้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีก็สามารถปรับตัวปรับใจรักษาความดีไว้ได้ ดังพุทธพจน์ว่า “จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง” “จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้” หากปฏิบัติได้ดังนี้ก็จะเข้าลักษณะ “พัฒนาอย่างทันสมัย” มิใช่ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” (ที่มา :พร.)