บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง “พกหินดีกว่าพกนุ่น”
Release Date : 25-09-2015 10:00:00
กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรมในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง “พกหินดีกว่าพกนุ่น”
มีคำพูดที่คนโบราณสอนไว้ประโยคหนึ่งว่า “จงพกหินอย่าพกนุ่น” ซึ่งคำสอนประโยคนี้แสดงให้เห็นว่า หินเป็นของหนัก ยากที่ลมจะพัดให้โยกหรือลอยขึ้นลงได้ ส่วนนุ่นเป็นของเบายามถูกลมกระพือพัด ก็ย่อมลอยไปตามลมอย่างง่ายดาย แม้ตกลงพื้นล่างแล้ว ครั้นลมแรงก็กลับลอยขึ้นสู่เบื้องบนได้อีก จะหยุดนิ่งไม่ต้องหมุนขึ้นลงตามกระแสลมอย่างหินไม่ได้
หากมองในแง่คิดทางธรรมจะเห็นได้ว่า คนใจหนักแน่นมีลักษณะคล้ายพกหิน หรือเป็นเหมือนหิน คือ ควบคุมใจของตนให้เป็นปกติคงที่อยู่ได้ตลอดเวลา ในเมื่อต้องประสบอารมณ์อันชอบหรือชัง ก็สะกดใจเอาไว้ได้ ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลหรือแสดงความวุ่นวายออกมาให้ปรากฏ เรียกว่าไม่แสดงอาการขึ้น ๆ ลง ๆ ส่อให้เห็นคุณลักษณะแห่งความเป็นบัณฑิตอย่างชัดเจน ทั้งเป็นคนมีเหตุผลไม่คล้อยตามลมปากของคนอื่นง่าย ๆ
ส่วนคนใจไม่หนักแน่น มีลักษณะคล้ายนุ่น หรือพกนุ่น จะแสดงธาตุแท้ของตนให้คนอื่นเห็นง่าย ๆ โดยเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ชอบหรือชัง ก็แสดงอาการลิงโลดและซบเซาจนเห็นอย่างถนัด ไม่มีสติควบคุมตนเอง ตลอดจนเคลิ้มตามลมปากผู้อื่นอย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นลักษณะของพาลชนคือ คนเขลาอย่างแท้จริง
ดังนั้น การดำเนินชีวิตในท่ามกลางกระแสสังคมปัจจุบัน เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ คนโบราณจึงสอนว่า เมื่อยามที่ประสบกับโลกธรรม คือ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเลื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ ให้พกหินคือ ทำใจให้หนักแน่น จึงจะทรงตัวอยู่ได้ด้วยดีและไม่ต้องโยกคลอนตามเหตุการณ์หรือลมปากของคนทั่วไป (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)